วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555


 การปลูก
ฤดูปลูก
ฤดูที่เหมาะสม ควรปลูกช่วงต้นฤดูฝน หรือราวเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม
เตรียมพื้นที่ พื้นที่จะปลูกควรตัดโค่นไม้ใหญ่ ออก เพราะจะไปแย่งอาหารจากไผ่ ถ้าได้พื้นที่ใกล้แหล่งน้ำจะดีมาก เพราะไผ่เป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก แต่ไม่ชอบน้ำขัง เริ่มโดยการไถดะ ไถพรวน ตากดินไว้สัก 7- 10 วัน เพื่อฆ่าเชื้อ แล้วขุดหลุมขนาด 30 x 30 x 30 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุมขึ้นอยู่กับเกษตรกรต้องการดังนี้ :-
    • 2 x 2 เมตร จะใช้ต้นพันธ์ 400 ต้นต่อไร่
    • 2.5 x 2.5  เมตร จะใช้ต้นพันธ์ 256 ต้นต่อไร่
    • 3 x 3  เมตร จะใช้ต้นพันธ์ 178 ต้นต่อไร่
    • 3.5 x 3.5  เมตร จะใช้ต้นพันธ์ 131 ต้นต่อไร่
    • 4 x 4  เมตร จะใช้ต้นพันธ์ 100 ต้นต่อไร่
    • 5 x 5  เมตร จะใช้ต้นพันธ์ 64 ต้นต่อไร่
วิธีปลูก รองก้นหลุม ด้วยดินที่ขุดขึ้นมาคลุกเคล้ากับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก แล้วนำต้นกล้าไผ่ลงวาง ฉีกถุงพลาสติกออก กลบดินจนพูนเมื่อดินยุบตัวแล้วจะเสมอกับพื้นที่ปลูกพอดี 


 การดูแลรักษา       ควรทำการบำรุงรักษาให้เหมาะสมเพื่อให้ได้รับผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ ดังนี้
1. การให้น้ำ
       ปกติ จะปลูกไผ่กันในฤดูฝนอยู่แล้ว เพราะประหยัดน้ำได้มาก อาจจะไม่ต้องให้น้ำเลยก็ได้ นอกจากฝนเกิดทิ้งช่วงนานๆ จึงให้น้ำช่วย แต่หลังจากหมดฝนแล้ว ผู้ปลูกต้องคอยรดน้ำให้เสมออย่าปล่อยให้ขาดน้ำนานๆ เพราะไผ่ในปีแรกนี้ยังไม่ค่อยแข็งแรงนัก อาจตายได้โดยง่าย หลังจากอายุเกิน 1 ปี ไปแล้ว ต้นไผ่จะแข็งแรงและทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดีขึ้น
2. การใส่ปุ๋ย       ใน ช่วงปีแรก ไผ่สามารถใช้ปุ๋ยที่คลุกเคล้าไปกับดินปลูกได้พอ ในระยะปีต่อๆ ไป จำเป็นต้องมีการไถพรวนและใส่ปุ๋ย ในระยะนี้อาจจะเห็นว่าหน่อที่แตกจะมีขนาดค่อนข้างเล็กและจะมีขนาดโตขึ้นทุกๆ ปี ถ้าความชุ่มชื้นและดินอุดมสมบูรณ์ดีพอเพียง แต่ถ้าจะให้ผลรวดเร็วควรจะให้ปุ๋ยเร่งทำให้ไผ่เกิดหน่อปริมาณมากตลอดฤดูกาล หลังจากเก็บหน่อขายบ้างแล้ว จะทำการตัดแต่งกอและไถพรวนเพื่อกำจัดวัชพืช ปกตินิยมไถพรวนในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ก่อนที่ดินจะแห้ง เพราะถ้าดินแห้งจะไถพรวนได้ยาก
       การใส่ปุ๋ยจะใส่ในช่วงเดือนมีนาคม ถึงเมษายน ปุ๋ยที่ยมคือปุ๋ยคอกเป็นหลัก ในอัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่สำหรับป่าไผ่ทั่วไป แต่ถ้าเป็นสวนไผ่ตงจะใส่มากถึง 1-1.5 ตันต่อไร่ หรืออาจใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 หรือ 15-15-15 อัตรา 2-4 กิโลกรัมต่อกอรวมกับปุ๋ยคอก
       ในกรณีที่ต้องการเร่งการออกหน่อ นอกเหนือจากใส่ปุ๋ยปกติแล้ว จะมีการใส่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ในอัตรา 1 - 2 กิโลกรัมรอบ ๆ กอ ระวังอย่าให้โดนหน่อจะทำให้เน่าได้ และถ้าต้องการให้หน่อมีคุณภาพดียิ่งขึ้น ควรใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 เพิ่มไปในอัตรา 1 กิโลกรัมต่อกอ ใส่พร้อมกับปุ๋ยยูเรีย การใส่ปุ๋ยเพื่อเอาหน่อโดยเฉพาะไผ่ตงจะเน้นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเป็นหลัก ไม่ควรใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว จะทำให้ไผ่ทรุดโทรมเร็ว
3 . การไว้ลำและการตัดแต่งกอ       ไผ่ ตง เมื่อปลูกได้ประมาณ 1 ปี จะเริ่มแตกหน่อได้ประมาณ 3-4 ลำ ในระยะแรกนี้จะไม่มีการตัดหน่อเลย ปล่อยให้เป็นลำต่อไป การดูแลกอในช่วงนี้จะทำการตัดกิ่งแขนงเล็กๆ บริเวณโคนต้นที่ขึ้นเกะกะทิ้งไปเท่านั้น
เมื่ออายุ 2 ปี จะมีหน่อแทงขึ้นมาอีก 5 - 6 หน่อ เหมือนในปีแรก ในปีนี้ก็ยังไม่มีการตัดหน่อ ปล่อยให้เป็นลำต่อไป การดูแลกอเพียงแต่ตัดเอาหน่อเน่า ลำคดเอียงแคระแกร็นและตัดแต่งกิ่งแขนงทิ้ง เพราะฉะนั้นเมื่อขึ้นปีที่ 3 จะมีลำประมาณ 8-10 ลำ
ไผ่ตงเมื่ออายุครบ 3 ปี ก็มีหน่อพอที่จะตัดขายได้ ในการตัดหน่อนี้ควรจะตัดจากกลางกอก่อนแล้วขยายออกมารอบนอกกอ ซึ่งหน่อนอกๆ ต้องมีการรักษาไว้บ้างเพื่อให้เป็นลำแม่ โดยเลือกหน่อที่อวบใหญ่และอยู่ในลักษณะที่จะขยายออกเป็นวงกลมจะทำให้กอใหญ่ ขึ้น มีหน่อมากขึ้นในปีต่อไป สะดวกที่จะเข้าไปดูแลรักษาและตัดหน่อ
      การ ตัดแต่งกอนั้น ควรทำติดต่อกันทุกๆ ปี หลังการเก็บเกี่ยวในช่วงปลายฤดูฝนหรือประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่ไผ่ชะงักการเจริญเติบโตชั่วคราว การตัดแต่งกอหรือที่ชาวบ้างเรียกกันว่า “ล้างกอไผ่” นั้น จะตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคและมีแมลง ลำที่ไม่ค่อยสมบูรณ์ และลำที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปออก โดยเฉพาะลำที่บริเวณโคนลำเป็นแข้งตุ๊กแก ตัดให้เหลือลำแม่ดีๆ ไว้ประมาณ 10-20 ลำต่อกอ ลำที่เหลือไว้นี้จะเป็นลำแม่ที่ค้ำจุนและบังลมให้ลำที่เพิ่งแตกใหม่ ลำที่ตัดออกนี้ให้ตัดติดดินหรือเหลืออยู่เหนือพื้นดินประมาณ 5 เซนติเมตร ไม่ให้เปลืองอาหารที่จะต้องส่งไปเลี้ยงลำพวกนี้อัก เพราะลำแก่ที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป จะแก่และแตกหน่อได้น้อย ทั้งยังเป็นการเร่งให้หน่อใหม่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ดีขึ้น
4. การบังคับให้เกิดหน่อมากขึ้น        ใน การบังคับให้ไผ่ตงแทงหน่อมากขึ้นตามฤดูกาลนั้น นอกจากการใส่ปุ๋ยและปฏิบัติดูแลตามปกติแล้ว ยังมีวิธีกระตุ้นให้ไผ่ตงแทงหน่อมากขึ้น โดยการสุมไฟในฤดูแล้งช่วงที่ลมสงบ โดยการรวบรวมใบ กิ่งแขนง ที่ได้จากการตัดแต่งกิ่งแล้วนำมากองให้ห่างจากกอประมาณ 1 เมตร จุดไฟเผา แต่ต้องระวังไม่ให้ไฟกรรโชกมาก โดยการพรมน้ำช่วยหรืออาจเอาใบ กิ่งแขนงสุมในกอเลย แต่ต้องระวังไม่ให้ไฟลามไปติดส่วนบนๆ ของกอในการสุมไฟนั้น เข้าใจว่าเป็นการเร่งให้ไผ่ตงมีการพักตัวเร็วขึ้น (hardening) เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนจะได้แทงหน่อมากขึ้น หลังจากที่ได้พักตัวอย่างเต็มที่และการสุมไฟยังช่วยในการกำจัดโรคและแมลงไป พร้อมกันด้วย
       นอกจากนี้ ยังมีวิธีการบังคับการออกหน่อวิธีอื่นอีก เช่น การไถพรวนแปลงไผ่ตง ทั้งในระหว่างแถวและระหว่างต้น โดยทำการไถพรวนในช่วงฤดูแล้ง ประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคม เป็นการทำลายรากแก่เพื่อให้แตกรากใหม่ ดังนั้นในการไถพรวนการให้น้ำจะทำให้ไผ่ตงออกหน่อเร็วและดก ส่วนการบังคับให้ไผ่ตงแทงหน่อนอกฤดูปกติก็ทำได้เช่นกัน โดยการบำรุงต้นด้วยการใส่ปุ๋ยและการให้น้ำอย่างถูกต้อง จึงสามารถทำได้เฉพาะแปลงปลูกที่มีแหล่งน้ำอย่างเพียงพอเท่านั้น
5. การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูของไผ
         ปกติ ไม่มีการระบาดรุนแรงของโรคและแมลงในสวนไผ่นัก มีเพียงแมลงพวกหนอนผีเสื้อกลางคืนมากัดกิน และม้วนใบไผ่เพื่อหลบซ่อนและเป็นที่อาศัยในระยะเป็นดักแด้บ้างเล็กน้อย แมลงที่เข้าทำลายหน่ออ่อนของไม้ไผ่ส่วนมากเป็นประเภทกัดกินหน่อ 4-5 ชนิด คือ หนอนด้วงเจาะหน่อไผ่ ด้วงกินหน่อ ด้วงงวงเจาะกิ่ง ผีเสื้อ เพลี้ยอ่อนและมวนดูดน้ำเลี้ยง การควบคุมและกำจัดสามารถกระทำได้หลายวิธี คือ ภายหลังที่หน่อเริ่มแตกจากตาของเหง้าปล้องแล้ว ก็หาทางป้องกันพวกเชื้อราและแมลงที่เข้ามากัดกินและอาศัยอยู่ตามกาบของหน่อ อ่อน โดยการใช้สารปราบศัตรูพืช เช่น มาลาไธออน ผสมน้ำราดที่หน่อและเหง้าหรือใช้วิธีควบคุมโดยการลิดกิ่ง หรือตัดลำแก่ที่เป็นที่อยู่ของดักแด้ออก แล้วทำลายหรือขายลำไป จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดจำนวนประชากรแมลงได้


การขยายพันธุ์
        ไม้ไผ่สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศ และไม่อาศัยเพศ ส่วนวิธีที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับชนิด พันธุ์ และรูปแบบของการเจริญเติบโต สำหรับวิธีการขยายพันธุ์ที่นิยมทำกันโดยทั่วไปนั้นมีอยู่ 5 วิธี คือ
- การขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด
     ไผ่ส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะมีการออกดอกราวๆ เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ และเมล็ดเริ่มแก่เต็มที่จนร่วงหล่นลงสู่พื้นดินราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ปกติแล้วไม่นิยมเก็บเมล็ดไผ่ที่แก่ติดกับกิ่ง เพราะส่วนใหญ่เมล็ดจะไม่แก่เต็มที่ เมื่อนำไปเพาะแล้วอาจทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกน้อยหรือเพาะไม่งอกได้ เมื่อเก็บเมล็ดได้แล้วควรนำไปผึ่งแดดไว้ประมาณ 2 - 3 วัน เพื่อให้เมล็ดที่ติดอยู่กับก้านหลุดร่วงออกและเพื่อลดความชื้นของเมล็ด จากนั้นจึงทำความสะอาดเมล็ดโดยใช้กระด้งฝัดร่อนเอาเปลือกออก เมล็ดลีบออกเสียให้หมด คงเหลือแต่เฉพาะเมล็ดดีเท่านั้น เมล็ดไผ่ที่ได้หากนำไปเพาะในช่วงนี้จะให้เปอร์เซ็นต์การงอกสูง แต่ถ้าหากต้องการเก็บรักษาควรนำไปบรรจุลงในถุงพลาสติกเสียก่อน แล้วเก็บไว้ในที่อุณหภูมิ 2-7 องศาเซลเซียส จะทำให้สามารถเก็บเมล็ดไว้ได้นาน 2-3 ปี โดยที่เมล็ดไม่เสีย ส่วนการเก็บเมล็ดไว้ในที่อุณหภูมิห้องปกติจะทำให้เมล็ดสูญเสียความมีชีวิต ภายในเวลา 6-7 เดือน
- การขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนของตอหรือเหง้า (การแยกกอ)
     วิธีนี้ใช้ได้ผลกับไผ่ทุกชนิด โดยเฉพาะไม้ไผ่ที่มีโคนลำค่อนข้างหนา เช่น ไผ่รวก ไผ่เลี้ยง ไผ่หางช้าง อายุของเหง้าที่สามารถผลิตหน่อใหม่ได้ดีคือ เหง้าที่มีอายุ  1 - 2 ปี เนื่องจากตาของเหง้าที่มีอายุมากกว่านี้มักอ่อนแอไม่แข็งแรง การตัดควรตัดให้ตอสูงประมาณ 50 - 80 เซนติเมตร ทำการขุดเหง้าออกจากกอแม่เดิมโดยระวังอย่าให้ตาที่เหง้าเสียหายได้ เพราะตานี้จะแตกเป็นหน่อใหม่ต่อไป วิธีนี้ให้หน่อที่แข็งแรงและได้หน่อเร็วกว่าการขยายพันธุ์โดยการใช้กิ่งแขนง หรือลำ ทั้งยังเป็นวิธีการที่ทำให้ได้ต้นตรงตามสายพันธุ์เดิมมากที่สุด แต่ก็ยังเป็นวิธีที่ไม่นิยมนัก เนื่องจากสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ลำบากในการขนย้าย เสียเวลาและแรงงานมาก และไม่สามารถขยายพันธุ์เป็นปริมาณมากๆ ในระยะสั้น ได้ เพราะเมื่อทำการขุดแยกกอมากเกินไป อาจทำให้กอเดิมได้รับอันตราย
- การขยายพันธุ์โดยการใช้ปล้อง กิ่งตัด หรือใช้ลำ        การขยายพันธุ์วิธีนี้นิยมใช้กับไม้ไผ่ชนิดที่ไม่ค่อยออกเมล็ด และเป็นไม้ไผ่ที่มีลำค่อนข้างใหญ่ เช่น ไผ่สีสุก ไผ่เหลือง ไผ่ป่า ไผ่ซางดำ เป็นต้น โดยทำการคัดเลือกลำที่มีอายุประมาณ 1-2 ปี เมื่อได้ลำที่ต้องการแล้ว นำมาตัดเป็นท่อนๆ โดยให้แต่ละท่อนมี 1-2 ข้อ ดังวิธีต่อไปนี้       
        ท่อนที่ใช้ 1 ข้อ จะตัดตรงกลางไม้ไผ่ให้ข้ออยู่ตรงกลาง ตัดให้ห่างจากข้อประมาณ 1 คืบ แล้วนำไปชำในแปลงเพาะชำ ให้ตาหงายขึ้น โดยระวังอย่าให้ตาเป็นอันตราย การชำควรให้ข้ออยู่ระดับดิน แล้วใส่น้ำลงในปล้องที่เหลือเหนือดินหรือวัสดุเพาะชำให้เต็ม
       ท่อนที่ใช้ 2 ข้อ เมื่อทำการตัดให้มี 2 ข้อ แล้วเจาะรูตรงกึ่งกลางปล้องเพื่อหล่อน้ำ ทำการริดกิ่งที่ข้อโดยตัดออกให้เหลือเพียง 2 - 3 นิ้ว ระวังอย่าให้ตาที่ข้อปล้องแตกหัก นำไปวางในแปลงชำ โดยฝังลงดินหรือวัสดุเพาะชำประมาณครึ่งของลำ หรือใช้ดินกลบข้อให้มิด เหลือไว้เฉพาะที่น้ำหล่อเท่านั้น
        การเพาะชำโดยวิธีการใช้ลำ สามารถชำในแปลงเพาะ ควรทำการปรับหน้าดินในกรณีที่เป็นที่ดอนที่น้ำท่วมไม่ถึง แต่ถ้าพื้นที่ลุ่มควรทำการยกร่องเพื่อมีการระบายน้ำดี หลังจากนั้นจึงทำการย่อยดิน ตากดินทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น ทำหลังคาทางมะพร้าวหรือบังแดด เมื่อชำเสร็จแล้วควรรดน้ำให้ชุ่มทันที หมั่นดูแลรดน้ำทุกวัน หรือวันเว้นวัน หลังจากนั้นประมาณ 2-4 สัปดาห์ จะพบหน่อและรากแตกออกมา ประมาณ 1-2 เดือน จึงทำการเลื่อยลำเก่าออก แล้วจึงย้ายถุงพลาสติกขนาดประมาณ 5 x 8 นิ้ว เพื่อให้สะดวกในการขนย้ายปลูก เมื่อต้นกล้าเจริญเต็มที่จึงค่อยๆ เปิดหลังคาที่คลุมไว้ออก จนกระทั่งสามารถเจริญได้ดีในที่กลางแจ้ง หลังจากนั้นประมาณ 6-8 เดือน กล้าไม้จะแกร่งเต็มที่ จึงทำการย้ายปลูกได้ อย่างไรก็ตามวิธีนี้ก็ยังไม่ค่อยนิยามากนัก เพราะใช้เวลาและเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าวิธีใช้กิ่งแขนง และต้องตัดลำอายุ 1 ปี ซึ่งเป็นลำแม่ที่ควรเลี้ยงเอาไว้ เพื่อให้หน่อใหม่ในปีถัดไป นอกจากนั้นยังนิยมเก็บลำไว้ขายเพื่อประโยชน์อย่างอื่นด้วย
- การขยายพันธุ์โดยการใช้กิ่งแขนง
        กิ่งแขนง คือกิ่งที่แตกจากตาบริเวณข้อต่อของลำ การขยายพันธุ์วิธีนี้เป็นที่นิยมกันมากที่สุดเพราะสะดวกรวดเร็วและสามารถตัด ชำกิ่งแขนงได้มาก ความสำเร็จในการปักชำโดยใช้กิ่งแขนงขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ไผ่ หากเป็นไม้ไผ่ที่มีรากอากาศบริเวณโคนกิ่ง เช่น ไผ่ตง จะมีความสำเร็จสูง และยังขึ้นอยู่กับการเลือกกิ่งแขนง คือ ปลายฤดูฝนช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีกิ่งแขนงมาก การเลือกกิ่งแขนงควรเลือกกิ่งที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้วถึงนิ้วครึ่ง ที่มีรากอากาศเป็นสีน้ำตาลหรือน้ำตาลอมเหลือง แล้วใบที่ยอดคลี่แล้ว กาบหุ้มตาหลุดหมด อายุของกิ่งแขนงอย่างน้อย 4-6 เดือน ถ้าค้างปียิ่งดี เมื่อเลือกกิ่งแขนงได้ตามความต้องการแล้ว ตัดปลายกิ่งออก ให้กิ่งแขนงที่จะปักชำยาวประมาณ 80 - 100 เซนติเมตร มีข้อติดอยู่ 3-4 ข้อ ควรใช้ฟางข้าวหรือกระสอบคลุมกิ่งแขนงไว้ พรมน้ำให้ชุ่มเพื่อเป็นการบ่มและกระตุ้นตารากและตายอดที่อยู่บริเวณโคนกิ่ง ซึงเมื่อบ่มตาไว้ประมาณ 2-3 วัน จะสามารถสังเกตเห็นปุ่มสีขาวบริเวณโคนกิ่งได้ ปุ่มดังกล่าวจะเจริญเป็นรากต่อไป ในบางกิ่งอาจเห็นตายอดเกิดการขยายตัวพร้อมที่จะแทงยอดด้วย การบ่มตาทำให้สามารถคัดเลือกกิ่งแขนงที่มีคุณภาพได้ ทำให้การปักชำมีประสิทธิภาพและมีการรอดตายสูง
               การชำกิ่งแขนงไม้ไผ่อาจชำในถุงพลาสติกโดยตรง หรือชำในแปลงเพาะชำแล้วจึงย้ายลงถุงภายหลัง แต่การปักชำกิ่งแขนงเพื่อการค้าในปัจจุบันนิยมชำในถุงพลาสติกโดยตรงตั้งแต่ แรกเพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนขณะย้ายชำกล้าและสะดวกในการขนย้ายไปปลูกตาม ที่ต่างๆ ปกตินิยมใช้ถุงขนาด 5 x 8 นิ้ว ก่อนทำการปักชำควรมีการเตรียมดินที่จะนำมาใช้เป็นวัสดุเพาะชำ โดยทำการย่อยดินและผสมดินกับขี้เถ้าแปลบในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 โดยประมาณ แล้วตากดินทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น หลังจากนำกิ่งลงถุงแล้วควรกดดินให้แน่น รดน้ำทันทีเพื่อให้กิ่งชำสดอยู่เสมอ หลังจากนั้นหมั่นดูแลรดน้ำทุกวันหรือวันเว้นวัน จนกระทั่งกิ่งแขนงที่ชำไว้แตกใบและราก ใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือน ก็ย้ายไปปลูกในแปลงได้ ก่อนทำการย้ายปลูกควรนำกล้าไม้ออกวางกลางแจ้งเป็นเวลา 1-2 เดือน เพื่อให้กล้าแกร่งเต็มที่ โดยปกติชาวสวนไผ่ตงมักทำการชำกิ่งแขนงในปลายฤดูฝนแล้วปลูกในต้นฤดูฝนปีถัดไป ซึ่งจะให้เวลาประมาณ 8 เดือน วิธีนี้ทำให้ได้กิ่งพันธุ์ที่แข็งแรงและเปอร์เซ็นต์การรอดตายสูง
- การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
        การ เลี้ยงเนื้อเยื่อไม้ไผ่มีวัตถุประสงค์ในการผลิตกล้าไผ่จำนวนมากในระยะเวลา สั้น โดยมุ่งเน้นในการขยายพันธุ์ไม้ไผ่ที่ผลิตเมล็ดจำนวนน้อยหรือไม่สามารถผลิต เมล็ดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้ไผ่เศรษฐกิจ เช่น ไผ่ตง และ ไผ่เลี้ยง อย่างไรก็ดีมีผู้ศึกษาการเลี้ยงเนื้อเยื่อไม้ไผ่ไว้หลายชนิด โดยเลี้ยงส่วนของคัพภะ ส่วนของใบอ่อนและส่วนของกิ่งอ่อนที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-3 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าไม้ไผ่เป็นพืชชนิดหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการขยายพันธุ์โดยวิธี นี้ หลังจากที่ได้กล้าไผ่จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแล้วสามารถปฏิบัติต่อกล้า เช่นเดียวกับกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ด เนื่องจากมีขนาดใกล้เคียงกัน 

ไผ่ บงหวาน เป็นไผ่ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลักษณะกอหุ้นแน่น ลำต้นคดงอ เนื้อในตัน แตกกิ่งตลอดลำ มีเส้นผ่าศูนย์กลางลำเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 3-5 เซนติเมตร สูงประมาณ 5-10 เมตร หน่อมีสีเขียว เนื้อละเอียด รสชาดหวานมัน กรอบ อร่อยคล้ายยอดมะพร้าว (หรืออาจรสชาดดีกว่ายอดมะพร้าวเสียอีก) สามารถทานดิบได้ ทานเป็นเครื่องเคียงแทนผักสด และสามารถนำไปประกอบอาหารแทนเมนูมะพร้าวได้ทุกเมนู ไม่ต้องนำมาต้มเพื่อให้รสขมของหน่อไม้หายไป ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของไผ่พันธุ์นี้
         ด้วยคุณลักษณะเด่นของไผ่ชนิดนี้  น่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่อนาคตไกลให้แก่เกษตรกรอีกตัวหนึ่ง เนื่องจากยังไม่มีการปลูกอย่างแพร่หลาย หากมีการรวมกลุ่มหรือปลูกกันอยางจริงจัง




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น